
สำนักส่งเสริมงานตุลาการ


วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ เวลา ๑๓.๐๐ น. สำนักงานศาลยุติธรรม โดยนายวิญญู พิชัย ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ประจำสำนักประธานศาลฎีกา นายเผ่าพันธ์ ชอบน้ำตาล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และคณะ เข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังปัญหาการดำเนินคดีที่ยื่นฟ้องทางระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) และการบริหารจัดการคดีที่พิจารณาทางอิเล็กทรอนิกส์ ของศาลแขวงนนทบุรี โดยมี นายเดชวิบุล พนาเศรษฐเนตร ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงนนทบุรี และนายอภิสิทธิ์ วิระมิตรชัย ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลแขวงนนทบุรี ให้การต้อนรับและร่วมสะท้อนปัญหาจากมุมมองของผู้ใช้งานระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์
ศาลแขวงนนทบุรี สะท้อนปัญหาเกี่ยวกับการใช้งานระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์หลากหลายประเด็น เช่น
๑. การยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ คู่ความมักยื่นในช่วงเช้าของวันนัด ไม่มีข้อจำกัดการยื่นขอพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ของคู่ความทำให้ไม่สามารถเตรียมพร้อมได้ว่าแต่ละคดีจะเป็นคดีที่พิจารณาออนไลน์หรือมาพิจารณาคดีที่ศาล
๒. การยื่นอุทธรณ์ในคดี e-Filing ศาลชั้นอุทธรณ์ไม่ยอมรับไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ และสั่งให้ศาลชั้นต้นจัดทำสำนวนกระดาษ และตั้งสำนวนกระดาษให้ศาลชั้นอุทธรณ์ ทั้ง ๆ ที่เป็นคดีอิเล็กทรอนิกส์ สร้างภาระให้แก่ศาลชั้นต้นอย่างมาก
๓. ไม่มีช่องทางการส่งไฟล์ข้อมูลคดี e-Filing ให้แก่ศาลชั้นอุทธรณ์ ทำให้ต้องส่งผ่านช่องทางชั่วคราวเฉพาะหน้า เช่น ส่งผ่านอีเมล์
๔. คำร้องต่าง ๆ ที่ไม่ได้ใช้ดุลพินิจมาก แต่มีจำนวนมาก ระบบควรทำได้โดยอัตโนมัติ เช่น คำร้องขอออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี หากระบบพิจารณาผลหมายแล้วยังไม่ครบกำหนดเวลาตามกฎหมาย ก็ให้ระบบไม่ทำรายการนั้น จะช่วยการทำงานของผู้พิพากษาได้มาก
๕. คู่ความสามารถยื่นคำฟ้อง คำร้อง ผ่านระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) ได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุด ทำให้เมื่อเปิดทำการจะมีค้างพิจารณาในระบบจำนวนมาก ไม่สามารถทำให้เสร็จได้ทันในเวลาราชการ
๖. ควรมีระบบที่คัดกรองเพื่อป้องกันการยื่นคำร้องหรือเอกสารซ้ำ
๗. คดี e-Filing คู่ความจำนวนมากยังยื่นคำร้องและเอกสารต่อ ๆ มา ในรูปแบบกระดาษ โดยไม่ยื่นในระบบ e-Filing ทั้ง ๆ ที่สามารถทำได้ ทำให้เกิดภาระและเพิ่มขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่ ในการนี้ สำนักงานศาลยุติธรรมได้รับฟังปัญหาและข้อคิดเห็นจากผู้ใช้งานระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์ตามแนวนโยบายของประธานศาลฎีกาที่มุ่งเน้นการยึดความต้องการของผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง (User-Centric) และจะนำปัญหาและข้อคิดเห็นที่ศาลแขวงนนทบุรีสะท้อนมาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงานศาลยุติธรรมต่อไปในอนาคต